Wednesday, October 21, 2020

สตาลินกับการสร้างระบอบเผด็จการในสหภาพโซเวียต



1. ชีวประวัติโดยย่อ

โจเซฟ สตาลิน (รัสเซีย: Иосиф Виссарионович Сталин ; อังกฤษ: Joseph Stalin) (21 ธันวาคม ค.ศ. 1879 – 5 มีนาคม ค.ศ. 1953) เดิมมีชื่อว่า ซูซี่ แต่เปลี่ยนชื่อเป็น สตาลิน เมื่อทำงานให้พรรคคอมมิวนิสต์ เขาเป็นชาวจอร์เจีย และได้เป็นผู้นำคนสำคัญของสหภาพโซเวียต ตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1920 ถึง ค.ศ. 1953 และดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต (ค.ศ. 1922-1953) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เปรียบได้กับหัวหน้าพรรค

2. การสร้างระบอบเผด็จการในสหภาพโซเวียต

หลังจากเลนินถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ ค.ศ. 1924 ได้เกิดการแย่งชิงอำนาจภายในพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตระหว่าง เลออน ทรอตสกี้ (Trotsky) กับโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) โดยประเด็นสำคัญในการต่อสู้กันนั้นเกี่ยวข้องกับทิศทางการสร้างระบอบสังคมนิยมในสหภาพโซเวียต ตรอตสกีเสนอแนวคิดเรื่องการปฏิวัติถาวร (permanent revolution) โดยมองว่าภารกิจเร่งด่วนที่สุดคือ การส่งออกการปฏิวัติไปยังต่างประเทศเพื่อแสวงหาพันธมิตรจากชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลก หาไม่แล้ว ระบอบสังคมนิยมในสหภาพโซเวียต จะถูกโดดเดี่ยวและพังทลายลง ตรงข้ามกับสตาลิน ที่เสนอแนวคิดเรื่องลัทธิสังคมนิยมในประเทศเดียว (socialism in one country) โดยมองว่าภารกิจเร่งด่วนที่สุดคือการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและการทหารเพื่อความอยู่รอดของสหภาพโซเวียต จากนั้นจึงส่งออกการปฏิวัติเป็นลำดับถัดไป ในที่สุดเมื่อถึง ค.ศ. 1927 สตาลินก็มีชัยชนะเหนือตรอตสกีผู้ถูกขับออกจากพรรคและเนรเทศไปอยู่ต่างประเทศจนกระทั่งถูกสังหารที่เม็กซิโกเมื่อ ค.ศ. 1940 โดยฝีมือของชาวสเปนที่รับคำสั่งจากสตาลิน

สตาลินให้ความสำคัญกับการวางแผนเศรษฐกิจระยะยาว โดยจัดตั้งคณะกรรมาธิการวางแผนแห่งรัฐ (Gosplan) ขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1927 และประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปีฉบับที่หนึ่ง (ค.ศ. 1928-1932) โดยในด้านเกษตรกรรม เขายกเลิกนโยบายของเลนินที่อนุญาตให้ชาวนานำผลผลิตส่วนเกินไปขายในตลาดได้เนื่องจากเห็นว่าเปิดช่องให้เกิดชาวนารวย (rich peasant) ที่กักตุนธัญพืชเพื่อเก็งกำไร เขาเปลี่ยนมาใช้ระบบนารวม (collective farm) และนารัฐ (state farm) นารวมคือการให้ชาวนานำที่นาและปัจจัยการผลิตมารวมกันภายใต้การจัดการของคณะกรรมการ โดยดำเนินการผลิตตามแผนที่รัฐกำหนด ส่วนนารัฐคือที่นาซึ่งรัฐเป็นเจ้าของและจ้างชาวนามาทำงาน ผลปรากฏว่ามีชาวนารวยหลายแสนครัวเรือนต่อต้านการเปลี่ยนแปลงโดยกักตุนอาหารและเครื่องมือการทำนา รวมถึงฆ่าสัตว์เลี้ยง ทำให้สตาลินต้องใช้มาตรการรุนแรง ทั้งจับกุมมาดำเนินคดี ประหารชีวิต และเนรเทศไปอยู่ค่ายกักกันในดินแดนที่ห่างไกล และเมื่อถึง ค.ศ. 1938 ก็มีนารวม 242,400 แห่ง และนารัฐ 4,000 แห่งเกิดขึ้นทั่วประเทศ

ในด้านอุตสาหกรรม สตาลินเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักและเครื่องจักรโดยระดมทุนด้วยการขายพันธบัตรอายุ 10 ปีมูลค่า 200 ล้านรูเบิล โรงงานใหม่ ๆ กว่า 4,000 แห่งผุดขึ้นในช่วง ค.ศ. 1928 1929 และสัดส่วนสินค้าอุตสาหกรรมของสหภาพโซเวียตต่อสินค้าอุตสาหกรรมทั่วโลกเพิ่มจากร้อยละ 1.5 ใน ค.ศ. 1921 เป็นร้อยละ 10 ใน ค.ศ. 1939 นอกจากนี้ยังพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสาธารณสุข สวัสดิการ และการศึกษา โดยอัตราการรู้หนังสือของประชากรเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 56.6 ใน ค.ศ. 1926 เป็นร้อยละ 87.4 ใน ค.ศ. 1939 หรือกล่าวได้ว่าในทศวรรษเดียวสตาลินได้เปลี่ยนโฉมสหภาพโซเวียต ให้เข้มแข็งพอที่จะรับมือกับเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 2 และต่อมาระบบเศรษฐกิจแบบวางแผน (centrally-planned economy) ของเขายังกลายเป็นแม่แบบให้กับประเทศสังคมนิยมอื่น ๆ รวมทั้งประเทศนอกค่ายสังคมนิยมที่รับเอาแนวคิดบางส่วนของลัทธิดังกล่าวไปใช้จัดการระบบเศรษฐกิจ เช่น อินเดีย อียิปต์เป็นต้น

การพัฒนาเศรษฐกิจของสตาลินดำเนินควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงภายในประเทศและการกระชับอำนาจเผด็จการของเขา การเติบโตของลัทธินาซีในเยอรมนีและลัทธิทหารในญี่ปุ่นตลอดทศวรรษ 1930 ทำให้สตาลินมุ่งกำจัดผู้ที่อาจเป็นไส้ศึกให้กับต่างชาติและบ่อนทำลายสหภาพโซเวียต ในช่วง ค.ศ.1937-1938 คณะกรรมาธิการกิจการภายในของประชาชน (People's Commissariat for Internal Affairs หรือเรียกย่อ ๆ ในภาษารัสเซียว่า NKVD) จึงจับกุมผู้คนกว่า 1.6 ล้านคนมาดำเนินคดีจนกลายเป็นเหตุการณ์ที่เรียกว่าความสะพรึงกลัวครั้งใหญ่ (Great Terror) มีผู้ถูกตัดสินความผิดถึง 1.3 ล้านคนในจำนวนนี้ถูกประหารชีวิตไป 682,000 คน โดยมีตั้งแต่ผู้นำระดับสูงในพรรค กองทัพ รัฐบาล ไปจนถึงประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ สตาลินยังสร้างลัทธิบูชาผู้นำ (cult of personality) เริ่มจากงานฉลองวันเกิดครบรอบ 50 ปีของ เขาเมื่อ ค.ศ. 1929 แล้วตามด้วยการใช้กลไกโฆษณาการและระบบการศึกษาตลอดทศวรรษ 1930 เพื่อฉายภาพว่าเขาปราดเปรื่องทั้งในทางทฤษฎีและการบริหาร และมีสถานะเป็น“ ซาร์พระบิดา (tsar batyushka)” หรือพ่อ ของแผ่นดิน

เอกสารอ้างอิง

สิทธิพล เครือรัฐติกาล. (2020). ประวัติศาสตรโลกสมัยใหม่. (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

อนันตชัย เลาหะพันธุ และสัญชัย สุวังบุตร. (2014). รัสเซียสมัยซาร์และสังคมนิยม. (พิมพ์ครั้งที่ 1). นนทบุรี : สำนักพิมพ์ศรีปัญญา.


Monday, October 5, 2020

การลงโทษขับออกจากศาสนาของคริสจักร

            

การลงโทษขับออกจากศาสนาของคริสจักร


            นยุคกลาง คือยุคที่ศาสนจักรมีอิทธิพล และมีอำนาจมาก เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับทุกกิจกรรมของชาวยุโรปในยุคนั้น ทำให้ยุโรปในยุคกลางนั้น กล่าวได้ว่า คือยุคที่ระเบียบระเบียบทางสังคม การเมือง และศาสนา เป็นสิ่งที่ไม่อาจออกจากกันได้ เนื่องด้วยอำนาจของศาสนจักรอันยิ่งใหญ่ ทำให้ต้องมีกฎระเบียบ กฎหมายต่าง ๆ ให้คนปฏิบัติตาม แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นการอิงอยู่กับความเป็นจารีตของคริสต์ศาสนาที่มีลักษณะอนุรักษ์นิยมแบบ radical      

กฎหมายต่างๆ นั้นก็คือ กฎหมายวัด หรือ กฎหมายโรมันที่เกี่ยวกับศาสนา (Cannon law) .ใช้ในการลงโทษผู้กระทำผิดเอง แยกออกจากฎหมายบ้านเมือง พระสันตปาเป็นประมุขที่ทุกคนยำเกรงที่สุด จนทำให้พระองค์สามารถใช้บทลงโทษแก่คริสตศาสนิกชนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับ หรือกฎขององค์กรคริสตศาสนาอย่างมีประสิทธิภาพ บทลงโทษ หรือ อาวุธ ที่สำคัญได้แก่ การบัพพาชนียกรรม (excommunication) และคณาเปหิกรรม (Interdict) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

    1) การบัพพาชนียกรรม (excommunication)
หมายถึง การขับบุคคลออกจากศาสนาคริสต์ กลายเป็นบุคคลนอกศาสนา กลายเป็นพวก outlaw หรือ outcast ซึ่งอาจมาจากฟลายสาเหตุด้วยกัน เช่น ไม่ทำตามคำสั่งของสันตะปาปา ไม่ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของศาสนา การประพฤติผิดในกาม หรือพยายามตั้งลัทธิความเชื่ออื่น

    2) คณาเปหิกรรม (Interdiction)
หมายถึง การขับชุมชน หรือประเทสออกจากศาสนา โดยที่ชุมชน หรือผู้ที่อยู่ในชุมชนเหล่านั้นไม่สามารถรับการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้ แม้กระทั่งการฝังพิธีศพ อีกทั้งห้ามพระไม่ให้ติดต่อกับบุคคลหรือชุมชน หรือประเทศนั้น ๆ ซึ่งเท่ากับเป็นการห้ามการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาทุกประเภทที่ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นสูงสุดในการดำเนินชีวิตด้วย นอกจากนี้บุคคลหรือพลเมืองของชุมชนหรือประเทศที่ถูกคณาเปหิกรรม ที่เสียชีวิตศพของเขาก็จะถูกทอดทิ้ง เพราะไม่มีพระที่จะประกอบพิธีกรรมทางศาสนาให้ได้ จึงเท่ากับวิญญาณของผู้นั้นไม่สามารถไปสู่สวรรค์ที่เป็นเป้าหมายของคริสต์ศาสนิกชนในขณะนั้น
    ในสมัยกลางยุครุ่งโรจน์ (ค.ศ. 1050-1350) สันตะปาปาหลายพระองค์ได้เคยใช้บทลงโทษดังกล่าวกับกษัตริย์หลายพระองค์และประเทศต่าง ๆ จนสามารถ“ ปราบ” กษัตริย์และประชาชนที่กระด้างกระเดื่องต่อพระองค์ได้ทำให้สันตะปาปามีฐานะสูงส่งเปรียบเสมือนพระมหากษัตริย์

อ้างอิง
                    อนันตชัย เลาหะพันธุ. (2010). เรื่องน่ารู้ในยุโรปสมัยกลาง. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพ: ศักด์โสภาการพิมพ์.


Monday, September 28, 2020

เส้นทางสายไหม

 

เส้นทางสายไหม

(Silk road)

การที่ เส้นทางสายไหม หรือ เส้นทางสายแพรไหม กลับมาเป็นที่สนใจของโลกในศตวรรษที่ 21 นั้น ไม่ใช่เพียงเพราะความยิ่งใหญ่ในทางประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่มันยังสัมพันธ์กับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการเมือง ของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่พลิกโฉมโลกอย่างไม่มีวันหวนคืน หรือหากจะพูดให้ชัดเจนก็คือ นโยบาย BRI ของจีน ที่ใช้เส้นทางสายไหมเป็นตัวเชื่อมโยง และกำหนดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะมีความรับรู้และความเข้าใจในเรื่อง เส้นทางสายไหม

1. ทำไมถึงเรียกว่า เส้นทางสายไหม

เส้นทางสายไหม ถูกเรียกชื่อตามสินค้าหลักในเส้นทางนี้ ซึ่งก็คือ ผ้าไหม โดยชาวจีนโบราณนั้นได้รู้จักวิธีการผลิตผ้าไหมด้วยความประณีตตั้งแต่ประมาณ 3000 ปีก่อนคริสตกาล และเป็นสิ่งที่มีราคาแพง โดยเฉพาะในอารยธรรมอื่นที่ยังไม่สามารถผลิตเองได้ เช่น โรมัน

2. กำเนิดเส้นทางสายแพรไหม

เส้นทางสายไหมเกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ฮั่น ในรัชสมัยของฮั่นอู่ตี้ ในสมัยนั้นอาณาจักรฮั่นถูกพวกชนเผ่าเร่ร่อนที่มีชื่อว่า "ซงนู๋" รุกรานอยู่บ่อย ๆ ฮ่องเต้ฮั่นอู่ตี้จึงส่งขุนนางผู้มีชื่อว่า "จางเชียน" ไปเจริญสัมพันธ์กับแคว้นต่าง ๆ ทางตะวันตก เพื่อชักชวนให้แคว้นเหล่านั้นหันมาเป็นพันธมิตรต่อต้านการรุกรานของพวกซงนู๋ด้วยกัน แต่ระหว่างเดินทางนั้นจางเชียน ถูกพวกซงนู๋จับตัว และถูกกักขังไว้เป็นเวลาร่วมสิบปี แต่สุดท้ายจางเชียนก็สามารถหลบหนีออกมาได้ ซึ่งเขาก็ไม่ลืมภาระที่ได้รับมอบหมายและมุ่งหน้าสู่เอเชียกลาง แต่ขณะนั้นบรรดาแคว้นต่าง ๆ ล้วนพอใจกับสถานะที่เป็นอยู่ไม่มีใครยอมร่วมเป็นพันธมิตร เท่ากับว่าจางเชียนคว้าน้ำเหลวอย่างสิ้นเชิงในภารกิจที่ได้รับมอบหมาย แต่เขาก็สามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส จางเชียนจดบันทึกข้อมูลทั้งหลายตลอดเส้นทางเกี่ยวกับทางภูมิศาสตร์ วิถีชีวิต การค้าการขายต่าง ๆ ถวายแด่ฮ่องเต้ฮั่นอู่ตี้ เพื่อแปลงสนามรบเป็นสนามการค้า หลังจากนั้นอาณาจักรฮั่นก็ส่งสินค้าไปค้าขายกับทางตะวันตก สินค้าที่ขึ้นชื่อในยุคนั้น คือ ผ้าไหม

3.เส้นทางสายไหมพาดผ่านประเทศใดบ้าง


                                                    แผนที่แสดงเส้นทางสายไหมในยุคโบราณ

(ที่มา: http://siamteas.com)

 

เอกสารอ้างอิง

HistoryExtra. (2015). Your guide to the Silk Road. ค้นเมื่อ 25 สิงหาคม 2563, จาก https://www.historyextra.com/period/ancient-history/silk-road-trade-route-length-history/

McKenna, Amy. (2019). Silk road. ค้นเมื่อ 25 สิงหาคม 2563, จาก https://www.britannica.com/topic/Silk-Road-trade-route

สุรางค์ศรี ตันเสียงสม. (2008). อารยธรรมตะวันออก. (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ : โครงการเผยแพร่ผล                งานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

 



Monday, September 14, 2020

ระบบวรรณะในอินเดีย

 

ระบบวรรณะในอินเดีย

(ที่มา : https://www.bbc.com/news/world-asia-india-35650616) 

ระบบวรรณะ (caste system ) เป็นการจัดกลุ่มสังคมต่าง ๆ เพื่อเป็นระเบียบในการทำงานพิเศษตามลำดับความสูงต่ำของอำนาจและศักดิ์ศรี การแบ่งงานกันทำเป็นมูลฐานของแบ่งชั้นวรรณะ เพราะบุคคลที่อยู่ในวรรณะต่าง ๆ ประกอบอาชีพแตกต่างกัน ดังนั้น ระบบวรรณะจึงเป็นความสัมพันธ์ของสถานภาพซึ่งจำกัดบุคคล นั่นคือสถานภาพโดยกำเนิดเป็นตัวกำหนดช่วงชั้นทางสังคม

ในสังคมอินเดียมีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่า ฐานะและหน้าที่ของมนุษย์มีความแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มหรือวรรณะ โดยมีความสอดคล้องกับอวัยวะส่วนต่าง ๆ อันเป็นที่มาของมนุษย์ด้วย คือ

1) พราหมณ์ คือนักบวชที่มีฐานะสูงที่สุด มีหน้าที่ศึกษาคัมภีร์พระเวท เป็นผู้สวดอ้อนวอน ทำพิธีกรรมบูชาและติดต่อกับพระผู้เป็นเจ้า ตลอดจนนำคำสอนจากพระผู้เป็นเจ้ามาเผยแพร่แก่มนุษย์ ดังนั้นนอกจากการเป็นนักบวชแล้ววรรณะพราหมณ์ยังประกอบด้วยผู้มีอาชีพอื่นที่เกี่ยวเนื่องกันด้วย เช่น ครูอาจารย์ นักคิด ผู้ตั้งกฎหมาย ผู้พิพากษา เสนาบดี ตลอดจนปุโรหิตผู้เป็นที่ปรึกษาของกษัตริย์

2) กษัตริย์ เนื่องจากมีที่มาจากส่วนแขนดังนั้น หน้าที่ของวรรณะกษัตริย์ คือ การรบป้องกันบ้านเมืองในยามสงครามตลอดจนปกครองบ้านเมืองให้มีความร่มเย็นเป็นสุข ในยามสงบคนในกลุ่มนี้คือพระมหากษัตริย์ เจ้าประเทศราช รวมไปจนถึงกลุ่มนักรบด้วย

3) แพศย์ เป็นผู้ที่ประกอบอาชีพต่าง ๆ เพื่อจรรโลงสังคม เช่น เกษตรกร พ่อค้า ช่างฝีมือ เจ้าที่ดิน และผู้ให้กู้ยืมเงิน เป็นต้น

4) ศูทร คือ กลุ่มที่มีวรรณะต่ำที่สุด เป็นคนผิวดำที่ต่างเผ่าพันธุ์กับอารยัน มีหน้าที่เป็นผู้รับใช้ผู้ที่มีวรรณะสูงกว่าคนในกลุ่มนี้จึงได้แก่ กรรมกรและทาสเป็นสำคัญ

         นอกจากนี้ยังคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความต่ำต้อยยิ่งกว่าวรรณะศูทร คนกลุ่มนี้คือพวกนอกวรรณะ (outcasts) ซึ่งอาจเรียนแตกต่างกันไป เช่น จัณฑาล ทลิต หรืออื่นๆ

อ้างอิง

BBC. (2019). What is India's caste system?. ค้นเมื่อ 25 สิงหาคม 2563, จาก https://www.bbc.com/news/world-asia-india-35650616

สุรางค์ศรี ตันเสียงสม. (2008). อารยธรรมตะวันออก. (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ : โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Monday, August 24, 2020

พระอุปนิสัยของอเล็กซานเดอร์มหาราช


พระอุปนิสัยของอเล็กซานเดอร์มหาราช


So in love with Angelina Jolie's look from Alexander the Great ...

(ที่มา : https://www.pinterest.com/pin/248260998184878394/)

        อเล็กซานเดอร์มหาราช หรือ Alexander the Great III แห่งมาซิดอน กษัตริย์แห่งมาซิโดเนีแคว้นใหญ่แคว้นหนึ่งตอนเหนือของประเทศกรีกโบราณ พระองค์ประสูติเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม ปี 356 (ก่อนคริสตกาล) ณ เมืองเปลลา (Pella) นครรัฐมาซิโดเนีย มีพระวรกายสมบูรณ์ แข็งแรง สง่าผ่าเผย นอกจากนี้ในช่วงอายุระหว่าง 13 ถึง 16 ปี พระองค์ได้ทรงศึกษากับอริสโตเติล ผู้ที่ทำให้พระองค์สนใจวิชาปรัชญา การแพทย์ และวิทยาศาสตร

        บุคลิกภาพของอเล็กซานเดอร์นั้น ทรงมีความห้าวหาญ เด็ดขาด แต่ในอีกด้านหนึ่งค่อนข้างโมโหร้าย มีพระทัยร้อนและชอบชวนทะเลาะ เช่น คราวหนึ่งเมื่อยาตราทัพเข้าเอเชียไมเนอร์ (Asia minor) ขณะผ่านเมืองกอร์ดิอุม ก็ได้พบปมเชือกปริศนาตั้งไว้ให้ใคร ๆ ได้ปลดแก้ หากแก้ได้ก็จะเป็นผู้ได้รับชัยชนะและมีความรุ่งเรืองในชีวิต อเล็กซานเดอร์ได้ทรงพยายามแก้ปมเชือกปริศนา (Gordian knot) นั้น แต่ไม่อาจปลดแก้ได้ กริ้วมาก ถึงกับชักพระแสงดาบฟันปมเชือกขาดสะบั้น

        อย่างไรก็ตาม ทรงมีบุคลิกภาพที่ซับซ้อน (Multiplicity of Souls) คือมีทั้งร้อนและเย็น หยาบกระด้างและนุ่มนวลอย่างยิ่ง อันมีเสน่ห์ดึงดูดผู้ใหญ่ให้เมตตา แม้กับพระมารดาแท้ ๆ ของศัตรูยังให้ความรักอเล็กซานเดอร์ดุจพระโอรส เรื่องมีอยู่ว่า ทรงสู้รบกับพระราชาดาริอุสแห่งเปอร์เซีย ซึ่งมีกองกำลังเหนือกว่าหลายเท่า แต่อเล็กซานเดอร์ก็ทรงเอาชนะจนได้ โดยยึดค่ายของดาริอุสไว้ทั้งหมด เป็นค่ายที่มั่งคั่ง อลังการ และแสนสมบูรณ์ คือมีสิ่งอำนวยความสะดวกสบายนานัปการ เช่นมีอ่างอาบน้ำทองคำ เป็นต้น รวมทั้งพระมารดานามว่าซิสซิแกมบิส และพระมเหสีสเตทีรา (Stateira) พร้อมกับเจ้าหญิงพระธิดาอีกหลายองค์ และนางในฮาเร็มจำนวนหนึ่งด้วย        

        แม้การประเมินชีวิตส่วนตัวนั้น จะทำให้ภาพลักษณ์ของพระองค์ดี หรือร้าย จะมีพระอุปนิสัยอย่างไร ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่พระองค์ได้สร้างสรรค์ขึ้น หรือมรดกตกทอดจากในช่วงชีวิตของพระองค์นั้น ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คน และต่อโลกในอีกหลายร้อยปีต่อมา 


เอกสารอ้างอิง

Jarus, Owen. (2017). Alexander the Great: Facts, Biography & Accomplishments. ค้นเมื่อ 24 สิงหาคม 2563จาก https://www.livescience.com/39997-alexander-the-great.html

Walbank, Frank. (2020). Alexander the Great. ค้นเมื่อ 24 สิงหาคม                                2563, จาก https://www.britannica.com/biography/Alexander-the-Great/Evaluation

ส.สีมา. (2018). อเล็กซานเดอร์มหาราช กษัตริย์กรีกเลือดร้อน-บุคลิกซับซ้อน. ค้นเมื่อ 24 สิงหาคม 2563จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_38964

Monday, August 17, 2020

ประมวลกฎหมายฮัมมูราบี

 ประมวลกฎหมายฮัมมูราบี


                                (ที่มา : https://www.tripsinegypt.com/egypt-old-kingdom/)

1.ประวัติความเป็นมา

        ผลงานที่สำคัญของอาณาจักรบาบิโลน ได้แก่ ประมวลกฎหมายฮัมมูราบี (The Code of Hammurabi) โดยพระเจ้าฮัมมูราบี (Harmornurabi, 1742-1745 ปีก่อนคริสต์ศักราช) หลักการของกฎหมายมีรากฐานมาจากกฎหมายของพวกซูเมเรีย แต่ได้จัดให้เป็นระบบระเบียบ เป็นการสร้างความยุติธรรมให้แก่สังคม และ “ทำลายความชั่วร้ายเลวทราม ป้องกันไม่ให้ผู้อื่นที่เข้มแข็งกว่ากดขี่ผู้ที่อ่อนแอกว่า ....” ประมวลกฎหมายของฮัมมูราบียึดถือหลัก“ ตาต่อตาฟันต่อฟัน” ในการลงโทษ กล่าวคือให้ใช้การทดแทนความผิดด้วยการกระทำอย่างเดียวกัน กฎหมายฮัมมูราบีจารึกในศีลาสีดำทรงกระบอกสูง ๒.๕๐ เมตรบนยอดหัวเสาสลักรูปเทพเจ้ามาร์ดุก (Marduk) กำลังประทานกฎหมายให้แก่พระเจ้าฮัมมูราบี ประมวลกฎหมายมีจำนวนกว่า 60 แถวรวมกัน 300 มาตรา ประมวลกฎหมายฮัมมูราบีถือเป็นการรวบรวมกฎหมายใหม่ที่เรียกว่า มิชารัม (mitharun) แปลว่าการทำให้ถูกต้อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขความอยุติธรรมต่าง ๆ ของกฎหมายเผ่า แม้จะได้ชื่อว่าเป็นกฎหมาย“ ตาต่อตาฟันต่อฟัน” แต่ก็มีบทลงโทษชนชั้นที่แตกต่างกัน ดังปรากฏข้อความว่า“ ถ้าเจ้าหน้าที่ทำลายลูกตาของสมาชิกชนชั้นขุนนาง เขาเหล่านั้นสามารถทำลายลูกตาของเจ้าหน้าที่ได้....ถ้าเขา(เจ้าหน้าที่) ทำลายลูกตาของสามัญชนหรือทำให้กระดูกหัก เขาผู้นั้นต้องจ่ายเงินจำนวนหนึ่งเหรียญมินา” อย่างไรก็ดี ประมวลกฎหมายฮัมมูราบี ก็นับเป็นความพยายามที่จะสร้างระเบียบวินัยขึ้นในสังคมและขจัดความอยุติธรรมต่าง ๆ 

 2.ตัวบทกฎหมาย

        ประมวลกฎหมายฮัมมูราบี ประกอบด้วย 282 มาตรา ซึ่งครอบคลุมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ของรัฐและประชาชน เช่น กฎหมายด้านเศรษฐกิจ(ราคา, ภาษี และการค้า) กฎหมายครอบครัว(การสมรส และการหย่า) กฎหมายอาญา กฎหมายพลเมือง(ทาส และหนี้) ส่วนบทลงโทษนั้นจะสอดคล้องกับสถานะทางสังคม(ชนชั้น) นอกจากนี้ประมวลกฎหมายฮัมมูราบียังเป็นกฎหมายฉบับแรกที่คำนึงถึงสิทธิสตรีและให้สิทธิเธอในการฟ้องหย่าสามีได้


เอกสารอ้างอิง

สัญชัย สุวังบุตรและคณะ. (2012). ประวัติศาสตร์สากล ม.4-6. (พิมพ์ครั้งที่ 6). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์.

Biography.com. (2019). Hammurabi. ค้นเมื่อ 17 สิงหาคม 2563จาก 

            https://www.biography.com/political-figure/hammurabi

Augustyn, Adam. (2020). Code of Hammurabi. ค้นเมื่อ 17 สิงหาคม 2563จาก
https://www.britannica.com/topic/Code-of-Hammurabi


Monday, August 10, 2020

ยุคอาณาจักรเก่า (The Old Kingdom )

ยุคอาณาจักรเก่า (The Old Kingdom )

Egypt Old Kingdom Facts - Egypt Old Kingdom Dynasties & Phataohs

    ยุคอาณาจักรเก่า คือยุคหนึ่งของประวัติศาสตร์อารยธรรมอียิปต์ ซึ่งตรงกับช่วงระหว่างปี 2575 ถึง 2450 ก่อนศริสตกาล โดยในช่วงระยะเวลากว่า 400 ปีนี้ คือยุคที่มีความสำคัญและเป็นที่รู้จักมากที่สุดยุคหนึ่ง เนื่องจากเป็นยุคที่มีความเจริญรุ่งเรื่องทั้งด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม และกินเวลาช่วงระหว่างราชวงศ์ที่ 4 ถึงราชวงศ์ที่ 6
    ในยุคนี้มีการแบ่งออกเป็นสามชนชั้น คือ ชนชั้นสูงได้แก่ เชื้อพระวงศ์ นักบวช ขุนนาง ชนชั้นกลางได้แก่ พ่อค้า เสมียน ช่างฝีมือ และชนชั้นล่างคือพวกชาวนาและผู้ใช้แรงงาน และนอกจากฟาโรห์แล้ว บุคคลที่มีอำนาจมากที่สุดคือหัวหน้านักบวชของสุริยเทพ รา ซึ่งเป็นจอมเทพสูงสุด
    ชาวอียิปต์โบราณดำรงค์ชีวิตด้วยการกสิกรรม โดยเฉพาะในเขตที่ราบน้ำท่วมถึงหรือที่เรียกว่าเขตดินสีดำที่ชื่อว่า เคเมต เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ การเพาะปลูกได้ผลดี พืชที่นิยมปลูกกันคือข้าวสาลีและข้าวบาเล่ย์ ชาวอียิปต์ยังทำการจับปลา ล่านกน้ำและฮิปโปโปเตมัสในแม่น้ำไนล์โดยใช้เรือที่ผูกจากต้นกก ส่วนในเขตดินสีแดงที่เรียกว่า เชเครต ซึ่ง อยู่ในเขตอียิปต์บนพวกเขาจะทำการล่าสัตว์ป่าอย่าง แอนทีโลป และแพะป่า ซึ่งมีอยู่มากมาย
    ในด้านประดิษฐกรรม ชาวอียิปต์มีการประดิษฐ์อักษรภาพที่เรียก ว่าเฮียโรกลิฟฟิค (Hieroglyphic) ซึ่งมีทั้งแบบที่เป็นรูปภาพและแบบที่เป็นสัญลักษณ์ประกอบเป็นคำ โดยจะบันทึกลงในแผ่นหินและม้วนกระดาษปาปิรัสซึ่งทำจากต้นกก นอกจากนี้ที่มีความสำคัญมากคือ มีการทำมัมมี่ซึ่งถูกทำขึ้นในสมัยราชวงศ์ที่ 4 และมีเรื่อยมาจนถึงค.ศ.641 ชาวอียิปต์เชื่อว่าหลังจากที่มนุษย์ ตายไปแล้วดวงวิญญาณจะกลับมาเกิดใหม่ในร่างเดิมจึงต้องเก็บร่างเอาไว้เพื่อรอรับการเกิดใหม่ในยุค อาณาจักรเก่าเชื่อว่ามีเพียงฟาโรห์เท่านั้นที่จะกลับมาคืน ร่างเดิมแต่ในสมัยต่อมาการทำมัมมี่ได้แพร่หลายสู่ขุนนางและสามัญชนแม้กระทั่งสัตว์ที่เป็นสัญลักณ์ของเทพ
    ชาวอียิปต์มีความเชื่อแบบพหุเทวนิยม อยู่ โดยมี เทพเจ้ารา (RA) เป็นเทพสูงสุด ชาวอียิปต์เชื่อว่าพระองค์เป็นผู้สร้างโลกและสวรรค์รวมทั้งสิ่งมีชีวิตทั้งปวง นอกจากเทพเจ้าราแล้ว เทพที่ชาวอียิปต์นับถือกันมากได้แก่ เทพเจ้าโอซิริส เทพแห่งยมโลกผู้มีหน้าที่ตัดสินดวงวิญญาณ, เทพีไอซิสเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์, เทพเจ้าเซ็ท เทพแห่งสงคราม, เทพีฮาธอร์เทพีแห่งความรัก และเทพเจ้าฮอรัส เทพผู้เป็นตัวแทนของฟาโรห์ทุกพระองค์ นอกจากนี้ยังมีเทพอื่น ๆ ที่ถือเป็นเทพเจ้าประจำแต่ละเมือง
    การล่มสลายของอาณาจักรเก่า เกิดขึ้นในช่วงราชวงศ์ที่ 6 ซึ่งเหล่าผู้ปกครองเริ่มมีอำนาจมากและท้าทายอำนาจของฟาโรห์ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นได้เกิดภัยธรรมชาติ เกิดความแห้งแล้งและอดอยากไปทั่ว สุดท้ายด้วยวิกฤติทางเศรษฐกิจและการเมืองก็ทำให้อาณาจักรเก่าล่มสลาย กลายเป็นรัฐอิสระ 7 รัฐ 
    
เอกสารอ้างอิง

โอเชียนสไมล์ทัวร์. (2020). ประวัติศาสตร์อียิปต์. ค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2563, จาก
    http://www.oceansmile.com/Egypt/EpOld.htm

Mark, J. (2016). Old Kingdom of Egypt. ค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2563จาก 
    https://www.ancient.eu/Old_Kingdom_of_Egypt/

Ducksters. (2020). Old Kingdom. ค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2563จาก
    https://www.ducksters.com/history/ancient_egypt/old_kingdom.php


 


สตาลินกับการสร้างระบอบเผด็จการในสหภาพโซเวียต 1. ชีวประวัติโดยย่อ โจเซฟ สตาลิน (รัสเซีย: Иосиф Виссарионович Сталин ; อังกฤษ: Joseph S...