Wednesday, October 21, 2020

สตาลินกับการสร้างระบอบเผด็จการในสหภาพโซเวียต



1. ชีวประวัติโดยย่อ

โจเซฟ สตาลิน (รัสเซีย: Иосиф Виссарионович Сталин ; อังกฤษ: Joseph Stalin) (21 ธันวาคม ค.ศ. 1879 – 5 มีนาคม ค.ศ. 1953) เดิมมีชื่อว่า ซูซี่ แต่เปลี่ยนชื่อเป็น สตาลิน เมื่อทำงานให้พรรคคอมมิวนิสต์ เขาเป็นชาวจอร์เจีย และได้เป็นผู้นำคนสำคัญของสหภาพโซเวียต ตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1920 ถึง ค.ศ. 1953 และดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต (ค.ศ. 1922-1953) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เปรียบได้กับหัวหน้าพรรค

2. การสร้างระบอบเผด็จการในสหภาพโซเวียต

หลังจากเลนินถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ ค.ศ. 1924 ได้เกิดการแย่งชิงอำนาจภายในพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตระหว่าง เลออน ทรอตสกี้ (Trotsky) กับโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) โดยประเด็นสำคัญในการต่อสู้กันนั้นเกี่ยวข้องกับทิศทางการสร้างระบอบสังคมนิยมในสหภาพโซเวียต ตรอตสกีเสนอแนวคิดเรื่องการปฏิวัติถาวร (permanent revolution) โดยมองว่าภารกิจเร่งด่วนที่สุดคือ การส่งออกการปฏิวัติไปยังต่างประเทศเพื่อแสวงหาพันธมิตรจากชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลก หาไม่แล้ว ระบอบสังคมนิยมในสหภาพโซเวียต จะถูกโดดเดี่ยวและพังทลายลง ตรงข้ามกับสตาลิน ที่เสนอแนวคิดเรื่องลัทธิสังคมนิยมในประเทศเดียว (socialism in one country) โดยมองว่าภารกิจเร่งด่วนที่สุดคือการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและการทหารเพื่อความอยู่รอดของสหภาพโซเวียต จากนั้นจึงส่งออกการปฏิวัติเป็นลำดับถัดไป ในที่สุดเมื่อถึง ค.ศ. 1927 สตาลินก็มีชัยชนะเหนือตรอตสกีผู้ถูกขับออกจากพรรคและเนรเทศไปอยู่ต่างประเทศจนกระทั่งถูกสังหารที่เม็กซิโกเมื่อ ค.ศ. 1940 โดยฝีมือของชาวสเปนที่รับคำสั่งจากสตาลิน

สตาลินให้ความสำคัญกับการวางแผนเศรษฐกิจระยะยาว โดยจัดตั้งคณะกรรมาธิการวางแผนแห่งรัฐ (Gosplan) ขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1927 และประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปีฉบับที่หนึ่ง (ค.ศ. 1928-1932) โดยในด้านเกษตรกรรม เขายกเลิกนโยบายของเลนินที่อนุญาตให้ชาวนานำผลผลิตส่วนเกินไปขายในตลาดได้เนื่องจากเห็นว่าเปิดช่องให้เกิดชาวนารวย (rich peasant) ที่กักตุนธัญพืชเพื่อเก็งกำไร เขาเปลี่ยนมาใช้ระบบนารวม (collective farm) และนารัฐ (state farm) นารวมคือการให้ชาวนานำที่นาและปัจจัยการผลิตมารวมกันภายใต้การจัดการของคณะกรรมการ โดยดำเนินการผลิตตามแผนที่รัฐกำหนด ส่วนนารัฐคือที่นาซึ่งรัฐเป็นเจ้าของและจ้างชาวนามาทำงาน ผลปรากฏว่ามีชาวนารวยหลายแสนครัวเรือนต่อต้านการเปลี่ยนแปลงโดยกักตุนอาหารและเครื่องมือการทำนา รวมถึงฆ่าสัตว์เลี้ยง ทำให้สตาลินต้องใช้มาตรการรุนแรง ทั้งจับกุมมาดำเนินคดี ประหารชีวิต และเนรเทศไปอยู่ค่ายกักกันในดินแดนที่ห่างไกล และเมื่อถึง ค.ศ. 1938 ก็มีนารวม 242,400 แห่ง และนารัฐ 4,000 แห่งเกิดขึ้นทั่วประเทศ

ในด้านอุตสาหกรรม สตาลินเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักและเครื่องจักรโดยระดมทุนด้วยการขายพันธบัตรอายุ 10 ปีมูลค่า 200 ล้านรูเบิล โรงงานใหม่ ๆ กว่า 4,000 แห่งผุดขึ้นในช่วง ค.ศ. 1928 1929 และสัดส่วนสินค้าอุตสาหกรรมของสหภาพโซเวียตต่อสินค้าอุตสาหกรรมทั่วโลกเพิ่มจากร้อยละ 1.5 ใน ค.ศ. 1921 เป็นร้อยละ 10 ใน ค.ศ. 1939 นอกจากนี้ยังพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสาธารณสุข สวัสดิการ และการศึกษา โดยอัตราการรู้หนังสือของประชากรเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 56.6 ใน ค.ศ. 1926 เป็นร้อยละ 87.4 ใน ค.ศ. 1939 หรือกล่าวได้ว่าในทศวรรษเดียวสตาลินได้เปลี่ยนโฉมสหภาพโซเวียต ให้เข้มแข็งพอที่จะรับมือกับเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 2 และต่อมาระบบเศรษฐกิจแบบวางแผน (centrally-planned economy) ของเขายังกลายเป็นแม่แบบให้กับประเทศสังคมนิยมอื่น ๆ รวมทั้งประเทศนอกค่ายสังคมนิยมที่รับเอาแนวคิดบางส่วนของลัทธิดังกล่าวไปใช้จัดการระบบเศรษฐกิจ เช่น อินเดีย อียิปต์เป็นต้น

การพัฒนาเศรษฐกิจของสตาลินดำเนินควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงภายในประเทศและการกระชับอำนาจเผด็จการของเขา การเติบโตของลัทธินาซีในเยอรมนีและลัทธิทหารในญี่ปุ่นตลอดทศวรรษ 1930 ทำให้สตาลินมุ่งกำจัดผู้ที่อาจเป็นไส้ศึกให้กับต่างชาติและบ่อนทำลายสหภาพโซเวียต ในช่วง ค.ศ.1937-1938 คณะกรรมาธิการกิจการภายในของประชาชน (People's Commissariat for Internal Affairs หรือเรียกย่อ ๆ ในภาษารัสเซียว่า NKVD) จึงจับกุมผู้คนกว่า 1.6 ล้านคนมาดำเนินคดีจนกลายเป็นเหตุการณ์ที่เรียกว่าความสะพรึงกลัวครั้งใหญ่ (Great Terror) มีผู้ถูกตัดสินความผิดถึง 1.3 ล้านคนในจำนวนนี้ถูกประหารชีวิตไป 682,000 คน โดยมีตั้งแต่ผู้นำระดับสูงในพรรค กองทัพ รัฐบาล ไปจนถึงประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ สตาลินยังสร้างลัทธิบูชาผู้นำ (cult of personality) เริ่มจากงานฉลองวันเกิดครบรอบ 50 ปีของ เขาเมื่อ ค.ศ. 1929 แล้วตามด้วยการใช้กลไกโฆษณาการและระบบการศึกษาตลอดทศวรรษ 1930 เพื่อฉายภาพว่าเขาปราดเปรื่องทั้งในทางทฤษฎีและการบริหาร และมีสถานะเป็น“ ซาร์พระบิดา (tsar batyushka)” หรือพ่อ ของแผ่นดิน

เอกสารอ้างอิง

สิทธิพล เครือรัฐติกาล. (2020). ประวัติศาสตรโลกสมัยใหม่. (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

อนันตชัย เลาหะพันธุ และสัญชัย สุวังบุตร. (2014). รัสเซียสมัยซาร์และสังคมนิยม. (พิมพ์ครั้งที่ 1). นนทบุรี : สำนักพิมพ์ศรีปัญญา.


No comments:

Post a Comment

สตาลินกับการสร้างระบอบเผด็จการในสหภาพโซเวียต 1. ชีวประวัติโดยย่อ โจเซฟ สตาลิน (รัสเซีย: Иосиф Виссарионович Сталин ; อังกฤษ: Joseph S...