Wednesday, October 21, 2020

สตาลินกับการสร้างระบอบเผด็จการในสหภาพโซเวียต



1. ชีวประวัติโดยย่อ

โจเซฟ สตาลิน (รัสเซีย: Иосиф Виссарионович Сталин ; อังกฤษ: Joseph Stalin) (21 ธันวาคม ค.ศ. 1879 – 5 มีนาคม ค.ศ. 1953) เดิมมีชื่อว่า ซูซี่ แต่เปลี่ยนชื่อเป็น สตาลิน เมื่อทำงานให้พรรคคอมมิวนิสต์ เขาเป็นชาวจอร์เจีย และได้เป็นผู้นำคนสำคัญของสหภาพโซเวียต ตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1920 ถึง ค.ศ. 1953 และดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต (ค.ศ. 1922-1953) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เปรียบได้กับหัวหน้าพรรค

2. การสร้างระบอบเผด็จการในสหภาพโซเวียต

หลังจากเลนินถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ ค.ศ. 1924 ได้เกิดการแย่งชิงอำนาจภายในพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตระหว่าง เลออน ทรอตสกี้ (Trotsky) กับโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) โดยประเด็นสำคัญในการต่อสู้กันนั้นเกี่ยวข้องกับทิศทางการสร้างระบอบสังคมนิยมในสหภาพโซเวียต ตรอตสกีเสนอแนวคิดเรื่องการปฏิวัติถาวร (permanent revolution) โดยมองว่าภารกิจเร่งด่วนที่สุดคือ การส่งออกการปฏิวัติไปยังต่างประเทศเพื่อแสวงหาพันธมิตรจากชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลก หาไม่แล้ว ระบอบสังคมนิยมในสหภาพโซเวียต จะถูกโดดเดี่ยวและพังทลายลง ตรงข้ามกับสตาลิน ที่เสนอแนวคิดเรื่องลัทธิสังคมนิยมในประเทศเดียว (socialism in one country) โดยมองว่าภารกิจเร่งด่วนที่สุดคือการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและการทหารเพื่อความอยู่รอดของสหภาพโซเวียต จากนั้นจึงส่งออกการปฏิวัติเป็นลำดับถัดไป ในที่สุดเมื่อถึง ค.ศ. 1927 สตาลินก็มีชัยชนะเหนือตรอตสกีผู้ถูกขับออกจากพรรคและเนรเทศไปอยู่ต่างประเทศจนกระทั่งถูกสังหารที่เม็กซิโกเมื่อ ค.ศ. 1940 โดยฝีมือของชาวสเปนที่รับคำสั่งจากสตาลิน

สตาลินให้ความสำคัญกับการวางแผนเศรษฐกิจระยะยาว โดยจัดตั้งคณะกรรมาธิการวางแผนแห่งรัฐ (Gosplan) ขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1927 และประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปีฉบับที่หนึ่ง (ค.ศ. 1928-1932) โดยในด้านเกษตรกรรม เขายกเลิกนโยบายของเลนินที่อนุญาตให้ชาวนานำผลผลิตส่วนเกินไปขายในตลาดได้เนื่องจากเห็นว่าเปิดช่องให้เกิดชาวนารวย (rich peasant) ที่กักตุนธัญพืชเพื่อเก็งกำไร เขาเปลี่ยนมาใช้ระบบนารวม (collective farm) และนารัฐ (state farm) นารวมคือการให้ชาวนานำที่นาและปัจจัยการผลิตมารวมกันภายใต้การจัดการของคณะกรรมการ โดยดำเนินการผลิตตามแผนที่รัฐกำหนด ส่วนนารัฐคือที่นาซึ่งรัฐเป็นเจ้าของและจ้างชาวนามาทำงาน ผลปรากฏว่ามีชาวนารวยหลายแสนครัวเรือนต่อต้านการเปลี่ยนแปลงโดยกักตุนอาหารและเครื่องมือการทำนา รวมถึงฆ่าสัตว์เลี้ยง ทำให้สตาลินต้องใช้มาตรการรุนแรง ทั้งจับกุมมาดำเนินคดี ประหารชีวิต และเนรเทศไปอยู่ค่ายกักกันในดินแดนที่ห่างไกล และเมื่อถึง ค.ศ. 1938 ก็มีนารวม 242,400 แห่ง และนารัฐ 4,000 แห่งเกิดขึ้นทั่วประเทศ

ในด้านอุตสาหกรรม สตาลินเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักและเครื่องจักรโดยระดมทุนด้วยการขายพันธบัตรอายุ 10 ปีมูลค่า 200 ล้านรูเบิล โรงงานใหม่ ๆ กว่า 4,000 แห่งผุดขึ้นในช่วง ค.ศ. 1928 1929 และสัดส่วนสินค้าอุตสาหกรรมของสหภาพโซเวียตต่อสินค้าอุตสาหกรรมทั่วโลกเพิ่มจากร้อยละ 1.5 ใน ค.ศ. 1921 เป็นร้อยละ 10 ใน ค.ศ. 1939 นอกจากนี้ยังพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสาธารณสุข สวัสดิการ และการศึกษา โดยอัตราการรู้หนังสือของประชากรเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 56.6 ใน ค.ศ. 1926 เป็นร้อยละ 87.4 ใน ค.ศ. 1939 หรือกล่าวได้ว่าในทศวรรษเดียวสตาลินได้เปลี่ยนโฉมสหภาพโซเวียต ให้เข้มแข็งพอที่จะรับมือกับเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 2 และต่อมาระบบเศรษฐกิจแบบวางแผน (centrally-planned economy) ของเขายังกลายเป็นแม่แบบให้กับประเทศสังคมนิยมอื่น ๆ รวมทั้งประเทศนอกค่ายสังคมนิยมที่รับเอาแนวคิดบางส่วนของลัทธิดังกล่าวไปใช้จัดการระบบเศรษฐกิจ เช่น อินเดีย อียิปต์เป็นต้น

การพัฒนาเศรษฐกิจของสตาลินดำเนินควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงภายในประเทศและการกระชับอำนาจเผด็จการของเขา การเติบโตของลัทธินาซีในเยอรมนีและลัทธิทหารในญี่ปุ่นตลอดทศวรรษ 1930 ทำให้สตาลินมุ่งกำจัดผู้ที่อาจเป็นไส้ศึกให้กับต่างชาติและบ่อนทำลายสหภาพโซเวียต ในช่วง ค.ศ.1937-1938 คณะกรรมาธิการกิจการภายในของประชาชน (People's Commissariat for Internal Affairs หรือเรียกย่อ ๆ ในภาษารัสเซียว่า NKVD) จึงจับกุมผู้คนกว่า 1.6 ล้านคนมาดำเนินคดีจนกลายเป็นเหตุการณ์ที่เรียกว่าความสะพรึงกลัวครั้งใหญ่ (Great Terror) มีผู้ถูกตัดสินความผิดถึง 1.3 ล้านคนในจำนวนนี้ถูกประหารชีวิตไป 682,000 คน โดยมีตั้งแต่ผู้นำระดับสูงในพรรค กองทัพ รัฐบาล ไปจนถึงประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ สตาลินยังสร้างลัทธิบูชาผู้นำ (cult of personality) เริ่มจากงานฉลองวันเกิดครบรอบ 50 ปีของ เขาเมื่อ ค.ศ. 1929 แล้วตามด้วยการใช้กลไกโฆษณาการและระบบการศึกษาตลอดทศวรรษ 1930 เพื่อฉายภาพว่าเขาปราดเปรื่องทั้งในทางทฤษฎีและการบริหาร และมีสถานะเป็น“ ซาร์พระบิดา (tsar batyushka)” หรือพ่อ ของแผ่นดิน

เอกสารอ้างอิง

สิทธิพล เครือรัฐติกาล. (2020). ประวัติศาสตรโลกสมัยใหม่. (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

อนันตชัย เลาหะพันธุ และสัญชัย สุวังบุตร. (2014). รัสเซียสมัยซาร์และสังคมนิยม. (พิมพ์ครั้งที่ 1). นนทบุรี : สำนักพิมพ์ศรีปัญญา.


Monday, October 5, 2020

การลงโทษขับออกจากศาสนาของคริสจักร

            

การลงโทษขับออกจากศาสนาของคริสจักร


            นยุคกลาง คือยุคที่ศาสนจักรมีอิทธิพล และมีอำนาจมาก เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับทุกกิจกรรมของชาวยุโรปในยุคนั้น ทำให้ยุโรปในยุคกลางนั้น กล่าวได้ว่า คือยุคที่ระเบียบระเบียบทางสังคม การเมือง และศาสนา เป็นสิ่งที่ไม่อาจออกจากกันได้ เนื่องด้วยอำนาจของศาสนจักรอันยิ่งใหญ่ ทำให้ต้องมีกฎระเบียบ กฎหมายต่าง ๆ ให้คนปฏิบัติตาม แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นการอิงอยู่กับความเป็นจารีตของคริสต์ศาสนาที่มีลักษณะอนุรักษ์นิยมแบบ radical      

กฎหมายต่างๆ นั้นก็คือ กฎหมายวัด หรือ กฎหมายโรมันที่เกี่ยวกับศาสนา (Cannon law) .ใช้ในการลงโทษผู้กระทำผิดเอง แยกออกจากฎหมายบ้านเมือง พระสันตปาเป็นประมุขที่ทุกคนยำเกรงที่สุด จนทำให้พระองค์สามารถใช้บทลงโทษแก่คริสตศาสนิกชนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับ หรือกฎขององค์กรคริสตศาสนาอย่างมีประสิทธิภาพ บทลงโทษ หรือ อาวุธ ที่สำคัญได้แก่ การบัพพาชนียกรรม (excommunication) และคณาเปหิกรรม (Interdict) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

    1) การบัพพาชนียกรรม (excommunication)
หมายถึง การขับบุคคลออกจากศาสนาคริสต์ กลายเป็นบุคคลนอกศาสนา กลายเป็นพวก outlaw หรือ outcast ซึ่งอาจมาจากฟลายสาเหตุด้วยกัน เช่น ไม่ทำตามคำสั่งของสันตะปาปา ไม่ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของศาสนา การประพฤติผิดในกาม หรือพยายามตั้งลัทธิความเชื่ออื่น

    2) คณาเปหิกรรม (Interdiction)
หมายถึง การขับชุมชน หรือประเทสออกจากศาสนา โดยที่ชุมชน หรือผู้ที่อยู่ในชุมชนเหล่านั้นไม่สามารถรับการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้ แม้กระทั่งการฝังพิธีศพ อีกทั้งห้ามพระไม่ให้ติดต่อกับบุคคลหรือชุมชน หรือประเทศนั้น ๆ ซึ่งเท่ากับเป็นการห้ามการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาทุกประเภทที่ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นสูงสุดในการดำเนินชีวิตด้วย นอกจากนี้บุคคลหรือพลเมืองของชุมชนหรือประเทศที่ถูกคณาเปหิกรรม ที่เสียชีวิตศพของเขาก็จะถูกทอดทิ้ง เพราะไม่มีพระที่จะประกอบพิธีกรรมทางศาสนาให้ได้ จึงเท่ากับวิญญาณของผู้นั้นไม่สามารถไปสู่สวรรค์ที่เป็นเป้าหมายของคริสต์ศาสนิกชนในขณะนั้น
    ในสมัยกลางยุครุ่งโรจน์ (ค.ศ. 1050-1350) สันตะปาปาหลายพระองค์ได้เคยใช้บทลงโทษดังกล่าวกับกษัตริย์หลายพระองค์และประเทศต่าง ๆ จนสามารถ“ ปราบ” กษัตริย์และประชาชนที่กระด้างกระเดื่องต่อพระองค์ได้ทำให้สันตะปาปามีฐานะสูงส่งเปรียบเสมือนพระมหากษัตริย์

อ้างอิง
                    อนันตชัย เลาหะพันธุ. (2010). เรื่องน่ารู้ในยุโรปสมัยกลาง. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพ: ศักด์โสภาการพิมพ์.


สตาลินกับการสร้างระบอบเผด็จการในสหภาพโซเวียต 1. ชีวประวัติโดยย่อ โจเซฟ สตาลิน (รัสเซีย: Иосиф Виссарионович Сталин ; อังกฤษ: Joseph S...